บุคคลสำคัญ


                       เอาล่ะครับสำหรับวันนี้ ผมอยากจะเสนอประวัติของบุคคลสำคัญ ซึ่งสำคัญกับใครหลายๆคนมากที่เดียวเพราะบุคคลทั้ง3ท่านนี้เป็นผู้ที่มีความ สำคัญกับโรงเรียนมาหาวชิราวุธเป็นอย่างมากนั่นคือ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
เจ้าพระยายมมราช(ปั้น สุขุม)
และเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณสงขลา)

ผมขอเริ่มต้นที่ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลยนะครับ
                พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

               พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยใน ปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน


พระนามเต็ม

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุทธสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"

                ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ อรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"


การศึกษา

                เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนสวนกุหลาบ ทรงเริ่มต้นการศึกษาภาษาไทยครั้งแรกกับพระยาอิสรพันธ์โสภณ (หนู อิศรางกูร ณ อยุธยา) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ทรงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเมื่อพระชนม์ 8 พรรษากับพระอาจารย์ชื่อโรเบิร์ต มอแรนต์
          
                            สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงวางหนทางพระราชทานไว้ เพื่อความสถาวรแก่ประเทศชาติและราชบัลลังก์ โดยจัดส่งให้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2436 แต่ขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ก็เสด็จสวรรคตลง พระองค์จึงทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สืบแทนสมเด็จพระเชษฐา

                           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษหลายแขนง ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากแซนเฮิสต์แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิช มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2444แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเสด็จในฐานะผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศใกล้เคียง เสด็จนิวัตพระนครตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเสด็จผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2445
การขึ้นครองราชย์


                เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทั้ง ๆ ที่พระองค์นั้นได้รับการสถาปนาตั้งไว้ในพระรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์มา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 แต่ก็ทรงเศร้าสลด ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติสำหรับพระองค์เองกับการสูญเสียพระ ชนมชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทรงเป็นทูลกระหม่อมอาแท้ ๆ ทูลเชิญเสด็จลงที่ห้องแป๊ะเต๋งบนชั้น 2 พระที่นั่งอัมพรสถาน และท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ชุมนุมอยู่ ทูลกระหม่อมอา ได้คุกพระชงฆ์ลงกับพื้นกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมเด็จ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทันใดทุกท่านที่ชุมนุมอยู่ที่นั้น ก็ได้คุกเข่าลงกราบถวายบังคมทั่วกัน

สวรรคต

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษใน พระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวม พระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา แต่รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน และถือว่าวันพระมหาธีราชเจ้าตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนด้วย
 

พระราชลัญจกรประจำพระองค์
 
                           พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระวชิระ ซึ่งมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มหาวชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นศาตราวุธของพระอินทร์ พระราชลัญจกรพระวชิระนั้น เป็นตรางา รูปรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. มีรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง


ความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนมหาวชิราวุธ
                            เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ผู้เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2439 ในวาระโอกาสวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าพระยายมราชได้ขอพระราชทานพระนามของพระองค์ในขณะนั้นมาเป็นนามของ โรงเรียน ว่าโรงเรียน “มหาวชิราวุธ”

                          วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร "มหาวชิราวุธ" ที่วัดนาถม ขณะที่ประทับแรม ณ พระตำหนักเขาน้อย ทรงทราบจากคำกราบบังคมทูลเรื่องการใช้พระนามาภิไธย เป็นนามโรงเรียน ทรงมีพระราชหัตถ์เลขาความว่า "โรงเรียนได้ตั้งมานานปี มีผู้สำเร็จการศึกษาออกไปทำประโยชน์แก่บ้านเมืองมากแล้ว จึงอนุมัติให้คงใช้ชื่อเดิมต่อไป" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวมหาวชิราวุธทั้งมวล






ประวัติเจ้าพระยายมราช(ปั้น สขุม)

                             มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช นามเดิม ปั้น สุขุม เกิดวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2405 ที่บ้านน้ำตก เมืองสองพันบุรี ปัจจุบันคือ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน ของนายกลั่นและนางผึ้ง ภริยาคือ ท่านผู้หญิงตลับ (ณ ป้อมเพชร)


                            ศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนได้เปรียญ ลาสิกขาบทแล้วถวายตัวอยู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เริ่มต้นชีวิตราชการโดยเป็นครูสอนภาษาไทยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนวิจิตรวรสาส์น ต่อมา พ.ศ.2429 ตามเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์ ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ โดยเป็นพระอาจารย์สอนภาษาไทย


                          ช่วงเวลานั้นได้ศึกษาภาษาอังกฤษ แตกฉาน ทั้งมีโอกาสตามเสด็จไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และเป็น พระวิจิตรวรสาส์น เลขานุการทูตไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา


                          พ.ศ.2437 กลับประเทศไทย เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งเลขานุการเสนาบดี ถึง พ.ศ.2439 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นที่ พระยาสุขุมนัยวินิต ดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นคนแรก ตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้พัฒนาปรับปรุงระเบียบการปกครองเจ็ดหัวเมืองภาคใต้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการในปี 2449 รัฐบาลได้มอบรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอร์ลิสให้รัฐบาลอังกฤษ แลกเปลี่ยนให้ชาวอังกฤษและคนในเมืองขึ้น ต้องมาขึ้นศาลไทย พระยาสุขุมนัยวินิตก็ได้ปฏิบัติการนี้ให้เป็นไปได้โดยเรียบร้อย


                          โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามลำดับ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของมกุฎราชกุมาร ผลงานระหว่างกลับมารับราชการในส่วนกลาง นอกจากการปกครอง และอีกมากมายงานราชการสนองพระราชดำริ ทางด้านการช่างและการก่อสร้างผลงานยังเป็นที่ปรากฏ อาทิ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน และพระที่นั่งอนันตสมาคม รับผิดชอบการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนน สะพานทุกแห่ง


คุณูปการต่างๆ นั้น ส่งให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยายมราช เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2451


                          ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง มหาอำมาตย์นายก เทียบเท่ากับยศจอมพล (ยศมหาอำมาตย์นายก มีบุคคลเพียง 2 ท่านที่ได้รับพระราชทาน อีกบุคคลหนึ่งคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) และเนื่องจากได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นยศเป็นเจ้าพระยายมราชชั้นหิรัณยบัฏซึ่ง สูงสุดอยู่แล้ว จึงทรงยกให้เป็นเจ้าพระยายมราชชั้นสุพรรณบัฏ เทียบเท่ากับเชื้อพระวงศ์ และเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ ทั้งได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นสกุลแรก คือ สุขุม


                          เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลลาออก จากราชการเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2468 รวมอายุราชการทั้งสิ้น 43 ปี ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2481 สิริอายุ 75 ปี


.....................................................................................................................................
พระยาวิเชียรคีรี ( ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลา
 

พระยาวิเชียรคีรี ( ชม ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลา
ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

 ประวัติ                           
พระยาวิเชียรคีรี ( ชม ณ สงขลา) หรือที่ชาวบ้านเมืองสงขลาให้สมญานามว่า"เจ้าจอมเมือง" เป็นเจ้าเมืองสงขลาในตระกูล ณ สงขลา คนสุดท้าย (คนที่ ๘) ในระยะที่ตระกูล ณ สงขลา ต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรง ๒ ปัญหาด้วยกัน คือปัญหาความแตกแยกภายในตระกูลและปัญหาการลดบทบาทและอิทธิพลของตระกูลลง เพื่อโอนอำนาจเข้าส่วนกลางพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นบุตรคนโตของพระยาสุนทรนุรักษ์ (เนตร) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาและคุณหญิงพับ เกิดที่เมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๗ ที่บ้านป่าหมาก(ปัจจุบันคือที่ตั้งศาลจังหวัดสงขลา)


เริ่ม เรียนหนังสือกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เมื่ออายุ ๑๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ เป็นมหาดเล็กหลวงเวรฤทธิ์ รับราชการในกรุงเทพฯ ได้ ๒ ปี ก็ลาออกมาศึกษาวิชาการอื่นๆ ที่สงขลา เช่น วิชาช่างไม้ ยิงปืน โหราศาสตร์ แพทย์ การเดินเรือ การถ่ายรูป ช่างเหล็ก ช่างทองและการทำแผนที่ทั้งกับครูไทย และครูชาวต่างประเทศหลายคน จนมีความเชี่ยวชาญ อายุได้ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๑๓) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงวิเศษภักดี (ชม) ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา อายุ ๒๑ ปี ลาอุปสมบทสำนักอาจารย์แดง วัดดอนรัก รับราชการจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้เลื่อนยศเป็นพระสุนทรานุรักษ์(ชม)ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาและ รักษาราชการเมืองสงขลาในระยะที่ว่างเจ้าเมือง เพราะพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) ถึงแก่อสัญกรรม ต้นปี พ.ศ. ๒๔๓๓ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลารับราชการต่อมาอีก ๑๑ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ถูกปลดออก และเลื่อนเป็นจางวางเมืองสงขลา รับพระราชทานเบี้ยบำนาญปีละ ๘,๐๐๐ บาท สูงกว่าเงินเดือนเดิมหลายเท่าตัว และ ๓ ปี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๗ ก็ถึงอสัญกรรมด้วยอายุ ๕๐ ปี

ผลงาน
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลา ได้พยายามพัฒนาบ้านเมือง โดยการสร้างถนนคอนกรีตในเมืองสงขลา และถนนวิเชียรชม จากศาลากลางเมืองสงขลาไปยังชายทะเลบริเวณแหลมทรายยางประมาณ ๒ กิโลเมตร ซ่อมแซมเขื่อนหินหน้าจวนริมน้ำ สร้างศาลาทรงฝรั่งบนเขาตังกวนเป็นพระบรมราชูทิศให้แก่รัชกาลที่ ๔ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองสงขลาหลายครั้ง และได้ดำเนินการปราบปรามโจรผู้ร้ายบริเวณรอยต่อระหว่างเมืองสงขลา เมืองพัทลุงและเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติ ณ สงขลา และแปดบรรพบุรุษ
สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษของต้นตระกูล "โรจนะหัสดิน" สืบเชื้อสายมาจากตระกูล "ณ สงขลา" ดังนั้น จึงขอบันทึกประวัติเกี่ยวกับ ตระกูล ณ สงขลา ไว้พอสังเขป

ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ สงขลา*
พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์) เป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล "ณ สงขลา" เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Na Sonkla" ขณะที่ดำรงบรรดาศักดิ์พระพฤกษาภิรมย์ ตามประกาศครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พุทธศักราช 2450 เป็นลำดับที่ 108 ของประเทศ

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์) เป็นบุตรพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ 8 เมื่อ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประภาสปักษ์ใต้ ก็ได้ขอมาเป็นเด็กต้นห้องบรรทม และชุบเลี้ยงจนได้รับราชการเป็นมหาดเล็กรับใช้พระองค์ ได้รับราชการต่อในสมัยรัชกาลที่ 6 สุดท้ายดำรงตำแหน่งพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมสวนหลวง และเป็นองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 7 แล้วได้กราบบังคมลาราชการ กลับมาอยู่ที่สงขลาเมื่อ พ.ศ. 2470

แปดบรรพบุรุษ
เมื่อ พ.ศ. 2318 สมเด็จพระเจ้าตาก สินได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคีรี (เหยี่ยง แซ่เฮา) เป็นผู้ปกครองเมืองสงขลา ต่อมาบุตรและหลานของพระยาสุวรรณคีรี (บรรดาศักดิ์ต่อมา) ได้รับช่วงเป็นเจ้าเมืองสงขลาถึง 8 คน ติดต่อกัน 8 สมัย ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเวลา 121 ปี

จนเปลี่ยนการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ. 2439 มีพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเทศาภิบาล และพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ทำหน้าที่เป็นปลัดเทศาภิบาล จนหมดวาระราชการใน พ.ศ. 2444 การปกครองเมืองของตระกูล ณ สงขลา เป็นอันสิ้นสุดความต่อเนื่องที่นานนับ 126 ปี

เจ้าเมืองในตระกูล ณ สงขลา มีดังต่อไปนี้


พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318-2327
เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327-2355
พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355-2360 สายสกุล "โรจนะหัสดิน"
พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พ.ศ. 2360-2390
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ. 2390-2408
เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) พ.ศ. 2408-2427
พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) พ.ศ. 2427-2431
พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ. 2431-2444


ณ สงขลา   

เป็นนามสกุลพระราชทานแก่พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ทิตย์) ขณะที่ดำรงบรรดาศักดิ์พระพฤกษาภิรมย์ ตามประกาศครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พุทธศักราช 2450 นามสกุลพระราชทานที่ 108 เขียนแบบอักษรโรมันว่า Na Songkhla
..............................................................................................................................
เเละนี่คือส่วนหนึ่งของประวัติผู้ที่มีความสำคัญต่อโรงเรียนมหาวชิราวุธครับ
หากจะกล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้ก่อตั้งโรงเรียน ไม่มีผู้ที่ได้มาร่วมก่อตั้ง 
หรือไม่ได้รับพระราชทานนามโรงเรียน
โรงเรียนมหาวชิราวุธ คง"เป็นมหาวชิราวุธ" อย่างวันนี้ไม่ได้
พวกเราในฐานะนักเรียน เลือดน้ำเงิน-ขาว
ก็จะร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน เป็นคนดีของสังคม เเละตอบเเทนบุญคุณเเผ่นดิน
เพื่อให้สมกับความคาดหวังเเละความตั้งใจของผู้คนในสังคม
ว่านักเรียนทุกคนที่จบจากสถาบันนี้ 
จะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติในภายภาคหน้า


...................................